top of page

กทม. จับมือ UddC-CEUS และ ภาคีพัฒนาเมือง ฟื้นฟู “สะพานเขียว” ทางเดิน-ทางจักรยานเชื่อมสวนลุมพินี-สวนเบญจกิติอายุ 20 ปี เป็นของขวัญปีใหม่ให้ชุมชนและคนเมืองปี 2020

24/12/2019

24 ธันวาคม 2562 - บรรยายกาศที่โบสถ์พระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน คึกคักเป็นพิเศษในเช้าวันคริสต์มาสอีฟ เนื่องจากคณะทำงานโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว (Bangkok Green Bridge) นำโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสตูดิโอใต้หล้า จัดกิจกรรมของขวัญให้ชุมชนและคนเมืองเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 ได้รับความสนใจจากชาวชุมชนร่วมฤดี ชุมชนโปโล และผู้สนใจร่วมงานคับคั่ง ทั้งนี้ได้รับความกรุณาจากคุณพ่อ วิรัช อมรวัฒนา เจ้าอาวาสวัดโบสถ์พระมหาไถ่ ร่วมฤดี อำนวยความสะดวกด้านสถานที่จัดงาน พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโครงการสะพานเขียว เพื่อฟื้นฟูให้เป็นโครงสร้างทางเดินและทางจักรยานเดิม ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น

จากนั้น ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนร่วมฤดี ชุมชนโปโล และคลองไผ่สิงโต ตลอดจนที่มาของโครงการทางเดินทางจักรยานยกระดับ เชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และภาคีร่วมการพัฒนาและชาวชุมชน พบว่า สะพานเขียวซึ่งจะมีอายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2563 มีปัญหาด้านการใช้งานหลายประการ อาทิ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม แสงสว่างไม่เพียงพอ การเข้าถึงลำบาก ขาดการเชื่อมต่อกับเนื้อเมือง และสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวโดยเครื่องมือการออกแบบเมืองและกระบวนการร่วมหารือ เพื่อให้โครงสร้างทางเดินและทางจักรยานลอยฟ้าใจกลางเมือง สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพในฐานะพื้นที่สีเขียวเชื่อมย่านและเชื่อมเมือง ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมชุมชนประวัติศาสตร์ใจกลางเมือง และดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีผลโดยตรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและเมือง

ขณะที่ คุณปรีชญา นวราช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ UddC-CEUS ในฐานะผู้จัดการโครงการ เปิดเผยภาพอนาคตของโครงการและรายละเอียดการออกแบบ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการร่วมหารือกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่รอยต่อสวนลุมพินีและสะพานเขียว จุดพักคอยบนสะพาน พื้นที่เชื่อมต่อชุมชน และพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะเมือง ทั้งนี้ รายละเอียดการออกแบบดังกล่าวสามารถตอบโจทย์สำคัญ 3 ข้อ นั่นคือ การสร้างความปลอดภัย สร้างสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างการเชื่อมต่อเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังได้แนะนำ “แผนที่มรดกวัฒนธรรม ชุมชนร่วมฤดี-ชุมชนซอยโปโล” ซึ่งเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของกระบวนการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ความท้าทาย โอกาสและอุปสรรคในการออกแบบและพัฒนา อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนโดยรอบโครงการเป็นผู้ดูแลและสร้างระบบการจัดการพื้นที่

นอกจากชาวชุมชนร่วมฤดีและชาวชุมชนโปโลจะเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่งแล้ว คณะทำงานยังได้รับเกียรติจากคุณหญิงอิสริยาภรณ์ ปัญจมานนท์ นายกสโมสรไลออนส์อาภาภิรมย์ พลอากาศโท รศ.นิกร ชำนาญกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และร้อยตำรวจเอกพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานครเดินทางมาร่วมงานอีกด้วย ทุกฝ่ายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ายินดีที่โครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะผลักดันให้โครงการบรรลุเป้าหมายดังที่ทุกอย่างตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ ของขวัญที่ชาวชุมชนตลอดจนผู้ร่วมงานทุกฝ่ายได้รับเป็นที่ระลึกคือสื้อทีเชิ้ตสีเขียวอมฟ้า สกรีนโลโก้โครงการฟื้นฟูสะพานเขียว “สองศูนย์ สองสวน” นั่นเอง

พร้อมกันนี้ยังมีข่าวดีจาก ผศ. ดร.จรรยาพร จุลตามระ ผู้อำนวยการศูนย์ LRIC ที่ได้แจ้งคณะทำงานและชุมชนว่า ต้นปี 2563 ได้เตรียมการเรียนเชิญ ดร.Elettra Bordonaro ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบแสงในพื้นที่สาธารณะรางวัลระดับโลกชาวอังกฤษ มาทำเวิร์คช็อปในพื้นที่สะพานเขียวร่วมกับชุมชน สถาปนิก นักออกแบบ และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้การออกแบบแสงในพื้นที่โครงการสะพานเขียวเป็นที่ถูกใจชุมชนและสาธารณชนมากที่สุดอีกด้วย

โครงการฟื้นฟูสะพานเขียว Bangkok Green Bridge เป็นต้นแบบโครงการความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนพัฒนา PPCs ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อาทิ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสตูดิโอใต้หล้า ตลอดจนชาวชุมชนร่วมฤดีและชาวชุมชนโปโล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

bottom of page