International Experts Meeting : Heritage in Urban Contexts
14/01/2020
UddC-CEUS @ International Experts Meeting : Heritage in Urban Contexts
เคยสงสัยไหมว่าทำไมวัดคินคาคุจิ กินคาคุจิ คิโยมิสึเดรา ซังเนนซากะ และ ฯลฯ ซึ่งเป็นมรดกโลกของเมืองเกียวโตยังสามารถปกป้องคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไว้ได้ บางแห่งตั้งใจกลางเมือง แต่ก็ไม่มีอะไรงอกขึ้นมาเกะกะรบกวนทัศนียภาพ ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนชาวเกียวโตก็ยังสามารถอยู่อาศัย ใช้ชีวิต ทำมาหากินได้ในเมืองได้
นี่เป็นเพียงหนึ่งประเด็นอภิปรายในการประชุมผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการปกป้องมรดกโลกในบริบทเมือง ซึ่งนับวันจะต้องรับเอาแรงกดดันจากการกลายเป็นเมือง (urbanisation) ที่เพิ่มด้วยอัตราเร่ง ในขณะที่หลายๆเมืองเจอกับสารพัดปัญหา เกียวโตเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่เรียกได้ว่าประสบความสําเร็จ ปัจจัยสำคัญมาจากการที่เกียวโตสามารถผนึก "มรดกวัฒนธรรม" เข้ากับ "ระบบผังเมือง" ผลิตออกมาเป็นผังและมาตรการฉลาดๆมาสร้างให้เกิดสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองให้วิวัฒน์ไปข้างหน้า ภายใต้บริบทเมืองประวัติศาสตร์
ไม่เพียงแค่นั้น เกียวโตยังเป็นหนึ่งในต้นแบบของ "machizukuri" หรือการสร้างเมืองโดยการมีส่วนร่วม อาจารย์จากมหาลัยเกียวโตท่านหนึ่งได้เคยกล่าวย้ำว่า การมีส่วนร่วมไม่ได้แค่ชวนชาวบ้านมานั่งคุย แปะโพสต์อิต เสร็จแล้วแยกย้าย แต่มีเทคนิควิธีการที่ละเอียดซับซ้อน ต้องการความรู้และทักษะ ตั้งแต่การวิเคราะห์ผู้ส่วนได้ส่วนเสีย การออกแบบกระบวนการ การดึง วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล การออกสถาบันเพื่อส่งเสริมการทำงานแบบ collaborative mode ฯลฯ - ซึ่งก็ได้เห็นจากการนำเสนอของหัวหน้ากองวางแผน เทศบาลนครเกียวโต
นี่เป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่อภิปรายใน International Experts Meeting : Heritage in Urban Contexts ที่ ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) ได้รับเชิญไปร่วมในฐานะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย ผู้เข้าร่วมอื่นๆ อาทิ Michael Turner (UNESCO Chair), Jyoti Hosagrahar (Deputy director, UNESCO World Heritage Center), Joseph King (ICCROM), Kono Toshiyuki (ICOMOS Chair), Ishida Toru (director, Agency for Cultural Affairs), Marie Toirnoux (WHITRAP), etc.
กรณีศึกษาจาก UddC-CEUS โดยเฉพาะย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้รับความสนใจโดยเฉพาะเป็นภาพแทนของ non-World Heritage Site* ใจกลางเมือง ที่มีคุณค่าและความสำคัญสูงที่กำลังเผชิญความท้าทายจากการพัฒนา ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทางการบริหารจัดการเมือง UddC ได้พยายามสร้างกระบวนการและสถาบันที่ engage ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีพัฒนามาสู่กระบวนการวางแผน เจรจา ต่อรองเพื่อระดมทรัพยากรที่มีไปในการขับเคลื่อนย่านให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนา แม้ว่าโครงการที่กะดีจีน-คลองสานจะดำเนินการมาจะครบ 10 ปี แต่ถือว่าสั้นมากเมื่อเทียบกับกรณีศึกษาแห่งอื่นๆที่ประสบความสำเร็จ (เช่น เกียวโตก็เริ่มฟุตเวิร์คตั้งแต่ 1940s และเริ่มชกเต็มที่ 1970s ในขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งมี พรบ.ผังเมืองฉบับแรก บอค์โด เมืองน้องใหม่ของฝรั่งเศสที่กลายเป็นดาวเด่นเรื่องการฟื้นฟูเมืองและการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมก็เริ่มตอน 1990s) ผู้เชี่ยวชาญก็ได้แต่ตบหลังตบไหล่ เริ่มหลังเพื่อน งานนี้ต้องอึดอย่างเดียว
แม้ว่า ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็น non-World Heritage Site แต่พระบรมธาตุมหาเจดีย์และหอพรินทรปริยัติธรรมได้รับรางวัล Award of Excellence in Culture Heritage Conservation จาก UNESCO ปี 2013