top of page

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณเมืองโทโมะโนะอุระ ประเทศญี่ปุ่น
ที่เป็นแรงบันดาลใจฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานด้วยหลักการ “มาจิสึคุริ”
หนึ่งในหัวใจการทำงานของ UddC-CEUS

21/01/2020

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณเมืองโทโมะโนะอุระ ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นแรงบันดาลใจฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานด้วยหลักการ “มาจิสึคุริ” หนึ่งในหัวใจการทำงานของ UddC-CEUS

ระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติว่าด้วยมรดกในบริบทเมือง: ผลกระทบของพัฒนาต่อสินทรัพย์มรดกโลกในเขตเมือง ระหว่างวันที่ 14-17 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยคิวชู นครฟูกูโอกะ ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ต่อชาวเมืองโทโมะโนะอุระ ณ หอประชุมใหญ่เมืองฟูกูยามะ จังหวัดฮิโรชิมะ 

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้กล่าวถึงความทรงจำขณะลงพื้นที่เมืองโทโมะโนะอุระ จังหวัดฮิโรชิมะ เมื่อปี 2000 ซึ่งการเดินทางเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ได้เรียนรู้หลักการ “มาจิสึคุริ” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน และยินดีที่เห็นเมืองโทโมะโนะอุระได้รับการฟื้นฟู ด้วยการกระบวนการมีส่วนร่วม

“โทโมะโนะอุระเป็นเมืองที่มีความหมายที่พิเศษสำหรับดิฉัน 

ดิฉันเคยเดินทางมาที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2000 หรือ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ศูนย์วิจัยนิชิมูระ (Nishimura Lab) ได้ 3 เดือน เพื่อนดิฉัน อาทิ คุณอิมากาวะ ชุนอิจิ คุณมิกามิ ฮิโรยะ คุณคูริฮาระ เคนจิ คุณอาเบะ ไดซึกะ ชวนมาสังเกตการณ์การลงพื้นที่ “มาจิสึคุริ” (machizukuri) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้รู้จักกับมาจิสึคุริ 

ฉันประทับใจกับมรดกวัฒนธรรมที่สวยงามของเมือง แต่เมืองตอนนั้นเงียบมาก มีแต่คนสูงอายุ แทบไม่มีร้านค้าอะไรเลย ดิฉันได้รับมอบหมายให้หาซื้ออาหารให้ทีม จำได้ว่าเดินไปไกลมากๆ กว่าจะได้อาหารมาให้เพื่อนๆ 

เมืองโทโมะโนะอุระได้ให้แรงบันดาลกับดิฉัน ทีมดิฉันได้นำเอาแนวคิดการใช้แสงไฟ (Tomo Night) ประดับตกแต่งตามพื้นที่สาธารณะและมรดกวัฒนธรรมของเมืองด้วยการมีส่วนร่วมของคน เพื่อสร้างคุณค่าให้เมืองไปใช้ที่ย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำเเห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ชื่อ “กะดีจีน-คลองสาน”

ดิฉันยังดีใจมากที่เห็นเมืองโทโมะโนะอุระในภาพยนตร์แอนิเมชันปองเงียวของอาจารย์ ฮายาโอะ มิยาซากิ และเห็นเมืองเล็กๆนี้ได้รับการฟื้นฟู” 

สุนทรพจน์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวเมืองโทโมะโนะอุระร่วมฟังกว่า 300 คน หลายคนประทับใจและเข้ามาแสดงความขอบคุณ ด้านผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้มอบบุ๊กเล็ต Love Kadeejeen-Khlongsan เวอร์ชันภาษาอังกฤษ โดยมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ให้กับชาวเมืองโทโมะโนะอุระเป็นที่ระลึกด้วย

สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมว่า “มาจิสึคุริ” คืออะไร? สามารถหาคำตอบได้จากบทความ “มาจิสึคุริ จากชุมชน สู่กฎการอาศัยร่วมกันย่านเกียวโต” ทางเว็บไซต์ The Urbanis ครับ 

bottom of page