top of page

รถเมล์ Game Changer ในการพัฒนาเมือง 

04/02/2020

กรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยใการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดการประชุมสรุปและการนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาจากการใช้กรอบกำกับดูแลและประเมินระบบรถโดยสารประจำทางและปริมณฑล ได้รับเกียรติจาก คุณธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเปิดงาน พร้อมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดย คุณสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) คุณวริทธิ์ธร สุขสบาย จากกลุ่ม Mayday! คุณอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ผู้ริเริ่มแอปพลิเคชัน ViaBus และ ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) 

ดร.สุเมธ องกิตติคุณ นักวิจัยและผู้เชี่ยวญด้านขนส่ง TDRI ผู้จัดการโครงการศึกษาฯ นำเสนอแผนการปฏิรูปการให้บริการรถโดยสารประจำทาง เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการให้ได้รับความพึงพอใจ มีสาระสำคัญว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จะมีการปรับปรุงเส้นทางให้บริการรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้สอดรับกับโครงข่ายการพัฒนารถไฟฟ้า พร้อมปรับไปใช้ระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้แก่งแย่งเส้นทางกัน นอกจากนี้ ยังเสนอให้รับปรับเลขสายเป็นระบบสามหลักทุกเส้นทาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอกรมการขนส่งทางบกพิจารณา ตลอดจนการวางระบบกำกับดูแลผู้ประกอบการด้วยเกณฑ์ใหม่ ประกอบด้วย บริการน่าเชื่อถือ (ตรงเวลา เดินทางครบเส้นทาง เดินทางครบเที่ยว) คุณภาพการให้บริการ และความปลอดภัย เป็นต้น 

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าวว่า รถโดยสารประจำทางคือผู้เปลี่ยนเกม (Game Changer) ในการพัฒนาเมือง หากรถโดยสารมีคุณภาพจะช่วยดึงดูดให้คนหันมาใช้งาน และปรับพฤติกรรมการเดินทางจากรถส่วนตัวเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งช่วยลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งนี้ โครงข่ายการให้บริการจะต้องครอบคลุมและเชื่อมต่อกับการสัญจรในเมืองรูปแบบอื่นๆ อย่างมีคุณภาพ เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้ารวมทั้งโครงการทางเดินเท้า โดยย้ำอีกด้วยว่า การออกแบบวางผังเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ หากเมืองเดินได้-เมืองเดินดี-เมืองเดินร่ม-เมืองเดินเย็น จะยิ่งทำให้ผู้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น 

ผศ. ดร.นิรมล ยกผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ศึกษาเปรียบเทียบอัตราการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองปักกิ่ง เมืองลอนดอน และเมืองนิวยอร์ก พบว่า คนในเมืองปักกิ่งใช้ขนส่งมวลชนน้อยกว่าคนในเมืองลอนดอนและนิวยอร์ก เนื่องจาก เมืองปักกิ่งมีถนนที่ใหญ่โต มีทางข้ามน้อย และระยะถอยร่นของตึกค่อนข้างสูง ส่งผลให้คนนิยมใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า ส่วนลอนดอนและนิวยอร์ก มีทางเท้าสวยงาม มีไฟส่องสว่าง เดินสะดวกปลอดภัย คนจึงนิยมใช้ทางเท้าและระบบขนส่งมวลชน ผลการศึกษาของ WHO ยังพบว่า การออกแบบพื้นที่โดยรอบสถานีให้สามารถเข้าถึงโดยได้สะดวก ก็ยิ่งสร้างแจงจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนอีกด้วย 

สอดคล้องกับผลการสำรวจปัจจัยที่ทำให้ป้ายรถโดยสารมีประสิทธิภาพของ TDRI พบว่า นอกจากข้อมูลการเดินทางครบถ้วน มีที่นั่งกันแดดกันฝน สะอาด มีแสงสว่างและกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารพึงพอใจอีกประการ คือ การใช้งาน/การเข้าถึง เช่น รถสามารถจอดบริเวณป้ายได้ มีทางเท้าเหมาะสม มีทางม้าลาย/สะพานลอยบริเวณใกล้เคียง และเชื่อมต่อกับระบบจนส่งสาธารณะอื่น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าจาก 115 ป้าย มีทางเท้าเชื่อมต่อป้ายรถเมล์ที่เหมาะสมเพียง 78 ป้าย และพบทางลาดและที่จอดรถเข็นสำหรับคนพิการน้อย เป็นต้น

bottom of page