top of page

UddC-CEUS จับมือภาคีเมืองโคราช ผลักดัน “โคราชสมาร์ตซิตี้” ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามและเวิร์คช็อป “นักสำรวจเมืองรุ่นที่ 3” หวังสร้างเมืองอัจฉริยะ เดินได้-เดินดี

16/03/2020

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองนครราชสีมา (UddC KORAT) สาขาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดยคณะกรรมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เทศบาลนครราชสีมา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “ย่าง เบิ่ง เมือง โคราช” เชิญชวนนักศึกษาลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ณ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “นักสำรวจเมือง” (The Urban Surveyor) รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2563 หวังสร้างเครือข่ายพลเมืองตื่นรู้ ร่วมผลักดัน “โคราชสมาร์ตซิตี้” และเมืองเดินได้-เมืองเดินดี

การอบรมหลักสูตร “นักสำรวจเมือง” รุ่นที่ 3 “ย่าง เบิ่ง เมือง โคราช” ได้รับความสนใจจากคณะนักศึกษาสาขาวิชาสำรวจ คณะวิศกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมการอบรมกว่า 20 คน โดยผู้เข้าอบรมได้รับฟังการบรรยายเรื่อง “โคราชเมืองเดินได้เมืองเดินดี: จากการเคลื่อนที่สู่เมืองอัจฉริยะ” โดย คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่าย Urban Intelligence (วิจัย) ตลอดจนทำความเข้าใจพื้นฐานความรู้เรื่องเมือง ตลอดจนการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามและการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าสาขาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวต้อนรับคณะทำงานและผู้อบรม ตลอดจนอำนวยความสะดวกตลอดกิจกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม จะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการออกแบบวางผังเมือง “โคราชสมาร์ตซิตี้” และ “โคราช เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คณะผู้จัดงานจึงตัดสินใจดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติ “นักสำรวจเมือง” รุ่นที่ 3 เป็นการภายใน โดยไม่เปิดสาธารณะ และปฏิบัติตามหลักการควบคุมการแพร่เชื้อโรคของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก เช่น มาตรการป้องกันตนเอง และ มาตรการเว้นระยะห่าง พร้อมทำความสะอาดสถานที่จัดงานและจัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด เพื่อสุขอนามัยและป้องกันการแพร่เชื้อโรคในกลุ่มผู้ร่วมงาน

bottom of page