ผู้อำนวยการ UddC-CEUS สัมภาษณ์บีบีซี เสนอ 3 ยุทธศาสตร์ 8 มาตรการ เสริมภูมิคุ้มกันเมืองท่องเที่ยว ชี้โควิดคือโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวระยะยาว
20/08/2020
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ให้สัมภาษณ์ คุณโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว BBC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็น ยุทธศาสตร์การปรับเมืองท่องเที่ยวในวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสำนักข่าว BBC กำลังให้ความสนใจติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทย
ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์เสริมภูมิคุ้มกันเมืองท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตโควิด กรณีศึกษาเมืองกะตะ-กะรน จ.ภูเก็ต ซึ่ง UddC-CEUS ได้หารือร่วมกับเทศบาลเมืองกะรน จ.ภูเก็ต ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การสร้างแบรนด์เมืองปลอดเชื้อ / การตรวจสอบผู้ติดเชื้อจากประเทศต้นทางอย่างเข้มข้น / และการปิดล้อมเมืองด้วยมาตรการทางสาธารณสุข กับมาตรการ 8 ขั้นตอน ที่ช่วยควบคุมการแพร่เชื้อตั้งแต่ประเทศต้นทาง ท่าอากาศยาน ระบบขนส่งมวลชน โรงแรมสำหรับกักตัว สถานพยาบาล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่น
ยังมีคำถามที่น่าสนใจจาก คุณโจนาธาน เฮด ที่ว่าในวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสในการฟื้นฟูเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทยหรือไม่ ผู้อำนวยการ UddC-CEUS บอกว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ยกตัวอย่างภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มจุดหมายการเดินทาง หากเพียงพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย และมีผลดีที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาว ที่จะช่วยให้เมืองหลุดพ้นกับดักรายได้การท่องเที่ยวปานกลางจากเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยวมากขึ้น
ผู้สนใจสามารถศึกษายุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ทาง @The Urbanis ผ่านบทความ “IMMUNITISED, HIGH TOUCH, HIGH TRUST: ฟื้นเมืองท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกภูมิคุ้มกันเชิงพื้นที่ เสริมระดับการบริการ และสร้างความเชื่อถือระยะยาว” โดย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาผังเมืองจุฬาฯ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS และคณะ