โครงการภูมิทัศน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่อาหารในเมือง
“ความสมบูรณ์ของอาหารในเมือง เป็นสิ่งสะท้อนการบริหารจัดการและการออกแบบเมืองสุขภาวะที่ดี”
โครงการศึกษาภูมิทัศน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่อาหารในเมือง เป็นกรอบความคิดต่อยอดจากประเด็นสาธารณะและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเรื่องความมั่นคงและสุขภาวะของอาหารในเมือง จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั่วโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้วิถีชีวิตแบบเมืองที่เปลี่ยนไป อันมีความเกี่ยวข้องอย่างแยกออกมิได้กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ซึ่งต่างมีผลกระทบซึ่งกันและกันในรูปแบบของตรรกะทางสังคมของพื้นที่และตรรกะทางพื้นที่ของสังคม พื้นที่อาหารในเมืองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่ของความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ การเข้าถึง ตลอดการศึกษาในเชิงวัฒนธรรมและสังคม
แม้กรุงเทพมหานครจะได้รับสมยานามว่าเป็นเมืองหลวงของแหล่งอาหาร ด้วยความหลากหลายของอาหารที่สามารถรองรับผู้คนจากทั่วโลกต่างเชื้อชาติ ศาสนา ทุกระดับรายได้ มองอย่างผิวเผินดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาด้านการเข้าถึงอาหาร แต่ความจริงแล้วแหล่งอาหารในเมืองของกรุงเทพฯ กำลังเปลี่ยนไปจากรูปแบบและวิถีชีวิตแบบเมือง อาหารบางอย่างหายไปจากเมือง คุณค่าและความสำคัญของอาหารในเมืองถูกลดทอนในแง่ของคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงในด้านของสุขภาวะของอาหารและสุขภาวะของแหล่งอาหารในเมือง สิ่งนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาและวิเคราะห์ในเชิงประจักษ์ ด้วยข้อจำกัดของการศึกษาในประเด็นดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายและขาดข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและทวีความรุนแรง
โครงการนี้นี้จึงมีความตั้งใจที่จะศึกษาในมิติเชิงพื้นที่และพลวัติการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตเมืองที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อาหารในเมือง โดยทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ของแหล่งอาหารที่มีอยู่อย่างหลากหลายประเภทในเมือง และพัฒนาดัชนีชี้วัดภูมิทัศน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่อาหารในเมือง ร่วมกับการวิเคราะห์บริบทเชิงพื้นที่และมิติด้านเศรษฐสังคมของเมือง เพื่อต่อยอดและขยายผลการศึกษาในการออกแบบสภาพแวดล้อมของเมือง และลดความเหลื่อมล้ำของภูมิทัศน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่อาหารต่อไป